วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

เรื่องที่ 6 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์

เรื่องที่ 6 


ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์

       วิชาเศรษฐศาสตร์ มุ่งศึกษาเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่ขาดแคลน เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ จัดว่าเป็นหัวใจสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์

จากความเป็นมา “economics” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ว่า “oikonomia” แปลว่า การบริหารจัดการของครัวเรือน ( skilled in the management household) เศรษฐศาสตร์หมายถึง เป็นการศึกษาถึงวิธีการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผลิตสินค้าและบริการต่างๆเพื่อสนองตอบความต้องการของมนุษย์ซึ่งมีอยู่ไม่จำกัด

โดยธรรมชาติมนุษย์มีความต้องการตลอดเวลา และไม่มีที่สิ้นสุด แต่จำนวนสินค้าและบริการมีจำกัด ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างสินค้า บริการและความต้องการ จึงเกิดการเลือกที่จะต้องตอบสนองความต้องการ ในการเลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้หมดโอกาสที่จะทำสิ่งอื่นไปโดยปริยาย เราเรียกว่าสูญเสียโอกาส จึงกล่าวว่าเมื่อตัดสินใจเลือกจะเกิดต้นทุนเกิดขึ้นพร้อมกันเราเรียกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาส ดังนั้นการที่จะเลือกเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดมีต้นทุนต่ำสุด

สรุปได้ว่า
1. ความต้องการมีไม่จำกัด (unlimited wants)
2. ทรัพยากรมีจำกัด (scarcity resources) ทำให้เกิดความขาดแคลน
3. จึงเกิดการเลือก (choice) 4. เมื่อเกิดการเลือกสิ่งที่ตามมาคืออะไร

  • สินค้าและบริการ(goods and services) เป็นสิ่งที่มีอรรถประโยชน์(utility)คือสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้รับความพอใจโดยไม่คำนึงว่าผิดกฏหมายหรือผิดศีลธรรม
  • สินค้าไร้ราคาหรือทรัพย์เสรี(free goods) มีตามธรรมชาติ เกินความต้องการของมนุษย์ ใช้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น น้ำ อากาศ แสงแดด
  • สินค้าทางเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐทรัพย์(economic goods) สินค้าที่มีต้นทุนการผลิต มีจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการ ต้องซื้อหรือจ่ายค่าตอบแทน
การศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจต่างๆต้องเข้าใจพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจแต่ละหน่วย ในลักษณะที่เป็นส่วนย่อยและส่วนรวมของระบบเศรษฐกิจเพื่อเข้าใจการทำงานและปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจทั้งระบบได้ดียิ่งขึ้น

สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ แบ่งเป็น 2 สาขา 

เศรษฐศาสตร์จุลภาค microeconomics เป็นการศึกษาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนย่อย ครัวเรือนหรือธุรกิจเพียงหน่วยใด หน่วยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การบริโภค การกำหนดราคา การจำหน่ายจ่ายแจก เน้นไปทางการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจของบุคคล หรือกลุ่มของบุคคลเนื้อหาส่วนใหญ่ของเศรษฐศาสตร์จุลภาคเป็นเรื่องเกี่ยวกับราคาในตลาดแบบต่างๆ จึงเรียกอีกอย่างว่า ทฤษฏีราคา(price theory)

เศรษฐศาสตร์มหภาค macroeconomics เป็นการศึกษาของเศรษฐกิจส่วนร่วม เป็นการศึกษาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจทุกหน่วยในสังคมเช่นรายได้ประชาชาติ ระดับราคาสินค้า การกระจายรายได้ การคลังรัฐบาล การค้าระหว่างประเทศ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับประเทศ ระหว่างประเทศ 

ความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์

         ถ้าจะกล่าวถึงคำว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันนี้คงจะไม่มีใครที่บอกว่าไม่เคยได้ยินคำว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ถ้าจะถามกลับไปว่าแล้วเศรษฐศาสตร์นั้นมีประวัติความเป็นมาอย่างไร คำถามนี้ถ้าหากไม่ใช่ผู้ที่สนใจจริงๆ แล้วก็อาจจะตอบไม่ได้ ซึ่งวิชาเศรษฐศาสตร์เมื่อเปรียบเทียบกับ วิชา รัฐศาสตร์ หรือปรัชญา นั้นจัดได้ว่าเป็นวิชาที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งผู้ที่ถูกจัดให้เป็นบิดาของวิชานี้ก็คือ อดัม สมิธ (Adam Smith ค.ศ.1723-1790) โดยท่านผู้นี้ได้แต่ตำราทางด้านเศรษฐศาสร์ที่จัดได้ว่าเป็นตำราทางเศรษฐศาสตร์ฉบับแรกของโลก ตำรานี้มีชื่อว่า "An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations" ซึ่งมีเนื้อหาในบางตอนกล่าวถึงในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ในเรื่องของมูลค่า (Value) ในทางเศรษฐทรัพย์ต่างๆ การค้าระหว่างประเทศ การคลังสาธารณะ รวมไปถึงการเก็บภาษีอากร

คำว่าเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นคำมาจากภาษากรีก 2 คำคือ Oikos ซึ่งแปลว่าบ้าน หรือครอบครัว และคำว่า Nomos ซึ่งแปลว่ากฎระเบียบ ดังนั้นคำว่าเศรษฐศาสตร์ในความหมายแบบดั้งเดิมจึงแปลว่าการจัดระเบียบในบ้าน หรือครอบครัว แต่ในนิยามที่เรามักจะใช้กันอยู่ทั่วไปคือคำว่าเศรษฐศาสตร์ (Economics) มีความหมายว่า เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรทั่วไปที่มนุษย์นำมาใช้ในการบริโภค (Consumption) โดยเป็นการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ทั่วไปมาใช้ในการบริโภค ซึ่งในปัจจุบันทรัพยากรที่มีอยู่นั้นนับวันจะลดลงเรื่อยๆ จึงทำให้มีการพัฒนาวิธีการจัดการ หรือจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดให้ได้มากที่สุด โดยสรุปแล้วนั้นก็ยังคงไม่มีผู้ใดที่สามารถให้ความหมายของคำว่าเศรษฐศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งคำว่าเศรษฐศาสตร์ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้นจะมีความหมายที่แตกต่างจากคำว่าเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐศาสตร์นั้นมีความหมายถึงการจัดสรรทรัพยากร แต่คำว่าเศรษฐกิจ(Economy)นั้นหมายถึงการจัดการครอบครัว หรือการดำรงชีพของประชาชนในชุมชน และสังคมนั้นๆ

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นคงจะมีคำถามที่ถามต่อมาอีกว่าที่จริงแล้วคำว่าเศรษฐศาสตร์นั้นมีความหมายที่แท้จริงว่าอย่างไร? ในที่นี้ทางผู้เขียนใคร่ขอยกตัวอย่างผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้ความหมาย หรือนิยามของคำว่าเศรษฐศาสตร์มาช่วยในการอธิบายดังนี้

อัลเฟรด มาร์แชลล์ (Alfred Marshall) Principle Economic เป็นวิชาที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อการดำรงชีพ(Business of life) ให้ได้มาซึ่งวัตถุสิ่งของเพื่อยังชีพให้ได้รับความสมบูรณ์พูนสุข (Material Requisties of Well-being)

รูดอลลิฟ ดับบลิว. เทรนตัน (Rudolliph W. Trenton) เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่กล่าวถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการตอบสนองความพึงพอใจสิ่งที่มนุษย์ต้องการ

พอล เอ. แซมมวลสัน (Paul A. Samuelson) Economics การศึกษาวิธีการของมนุษย์ และสังคมว่าจะเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ และสามารถแจกจ่ายสินค้าที่ผลิตขึ้นมาแล้วส่งไปยังประชาชนทั่วๆ ไปในสังคมเพื่อบริโภคในปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างไรโดยที่มนุษย์ และสังคมนั้นจะมีการใช้เงินหรือไม่ก็ตาม

อุทิศ นาคสวัสดิ์ : หลัก และทฤษฎีเศรษฐ์ศาสตร์ทั่วไป เป็นการศึกษาถึงวิธีการที่ระบบเศรษฐกิจ ทำการผลิตสิ่งของ และบริการเพื่อบำบัดความต้องการของมนุษย์ และแจกจ่ายสิ่งของ และบริการเหล่านั้นไปยังบุคคลที่มีความต้องการ

ประยูร เถลิงศรี : หลักเศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาสังคมศึกษาที่เกี่ยวกับการศึกษาว่า มนุษย์จะเลือกตัดสินใจอย่างไร ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอเพื่อผลิตสิ่งของ และบริการพร้อมทั้งแบ่งปันสิ่งของ และบริการเหล่านั้นเพื่ออุปโภค และบริโภคระหว่างบุคคลต่างๆ ในสังคมทั้งปัจจุบัน และอนาคต

ปัจจัย บุนนาค และสมคิด แก้วสนธิ : จุลเศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาที่ศึกษาถึงการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มาซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือนำมาประกอบกันผลิตเป็นสินค้าด้วยความประหยัด เพื่อจำแนกแจกจ่ายไปบำบัดความต้องการของมนุษย์ในสังคม

ธรรมนูญ โสภารัตน์ : เป็นวิชาที่ศึกษาถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และหายาก ในการผิตสินค้า และบริการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด และความอยู่ดีกินดีของประชาชาติ ในภาวะปัจจุบัน และอนาคต

จากความหมายของคำว่าเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นพอที่สรุปได้ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ คือวิธีการเลือกสรรเทคโนโลยีที่จะใช้ในการการผลิตสินค้าและบริการให้ได้ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเศรษฐศาสตร์คือวิธีการที่จะนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการผลิตเป็นสินค้าและบริการ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดให้มากที่สุด 





โดยมีปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (Basic Economic Problem) ที่เราจะต้องสามารถตอบได้ ดังนี้ 
1. ผลิตอะไร (WHAT)
2. ผลิตอย่างไร (HOW)
3. ผลิตเพื่อใคร (FOR WHOM)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น